อย่าให้กีฬาบาสเก็ตบอลกลายเป็นยาพิษ

โลกยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้เราได้ดูกีฬาสดๆ ระดับโลกมากมาย เลยทำให้พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกตัวเองเก่งกล้าสามารถ เช่น เล่นเทนนิสดีอย่างนาดาล เฟดเดอเรอร์ ยอโควิช หรือภราดร ไม่ก็เล่นกอล์ฟเก่งอย่างไทเกอร์ วูด เล่นฟุตบอลเก่งและมีรายได้มหาศาลอย่างเบ็คแค่ม เลี้ยงบอลคล่องแคล่วแพรวพราวอย่างไลโอเนล เมสซี่ ก็เลยผลักดันให้ลูกเล่นกีฬา โดยที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ที่อาจจะทำให้ลูกของเราเสียคนได้

เนื่องจากเยาวชนเป็นผู้ที่กำลังเจริญเติบโต พวกเขาจึงยังไม่เติบโตแข็งแรงเต็มพิกัดทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการฝืนออกกำลังกายมากๆ หรือเล่นแรงมากๆ เพราะอยากจะเอาแต่ชนะอย่างเดียว อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจนกลายเป็นผลเสียระยะยาวกับเด็กมากกว่า เช่น เยาวชนที่ฝึกซ้อมหรือเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลมาก หรือแรงเกินไป อาจพลาดท่าทำให้เกิดการบาดเจ็บของ epiphysis (อ่านว่าอีปิไฟสิส) คือ บริเวณของกระดูกที่มีเซลล์ทำหน้าที่แบ่งตัวงอกกระดูก โดยบริเวณที่บาดเจ็บแบบนี้ได้บ่อยๆ ก็อย่างเช่น บริเวณโหนกหน้าแข้งใต้สะบ้าหัวเข่า (แพทย์เรียกว่าโรค Osgood-Schlatter disease) หรือการบาดเจ็บที่กระดูกส้นเท้า (Sever’s disease) ซึ่งมีผลเสียต่อการงอกของกระดูก

นอกจากนี้การซ้อมมากๆ หรือการทำท่าใดท่าหนึ่งซ้ำๆ กันมากเกินไป อาจจะทำให้มีการฉีกขาดบาดเจ็บของร่างกายส่วนนั้นได้มาก เช่น นักเบสบอลที่ขว้างลูกมากๆ หรือนักกีฬาบาสเก็ตบอล อาจเกิดการบาดเจ็บที่ไหล่ การตีเทนนิสมากๆ อาจจะทำให้ข้อศอกอักเสบ หรือการตีลูกท็อปสปินมากๆ อาจทำให้ข้อมืออักเสบ

การบาดเจ็บอีกแบบหนึ่งจะเกิดจากการกดซ้ำๆ มากๆ เช่น กระดูกเท้าของนักกีฬาที่วิ่งมากๆ อาจจะร้าวจากความเครียด (stress fracture) ดังเช่นที่ตีนทองของเบ็คแค่มเคยร้าวที่กระดูกกลางเท้า (metatarsal) ก่อนแข่งฟุตบอลโลกปี 2006 มาแล้ว จนทำให้ชื่อกระดูกนี้เป็นที่รู้จักของชาวโลกมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้สมาคมโรคเด็กสหรัฐอเมริกันจึงกล่าวว่า การส่งเสริมการเล่นกีฬาของเยาวชนควรมุ่งหวังแต่เพียงให้เด็กติดนิสัยดีๆ คือ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในระยะยาวตลอดชีพ ไม่ใช่เล่นแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อการเป็นแชมป์โลก หรือเพื่อชิงทุนการศึกษาตามใจพ่อแม่ หรือต้องเปลี่ยนชนิดกีฬาที่เล่นไปเรื่อยๆ เพื่อหาว่าเล่นกีฬาชนิดไหนได้ดี